การทำบุญ

ความหมาย

     บุญพิธี ได้แก่ พิธีทำบุญเนื่องด้วยประเพณีในครอบครัวของพุทธศาสนิกชน เป็นประเพณีเกี่ยวกับชีวิตของคนไทยทั่วไป ส่วนมากทำกันเกี่ยวกับเรื่องฉลองบ้าง เรื่องต้องการ สิริมงคลบ้าง เรื่องตายบ้าง ในเรื่องเหล่านี้นิยมทำบุญทางพระพุทธศาสนา เช่น ทำบุญเลี้ยงพระและ ตักบาตร เป็นต้น เพราะประเพณีนิยมดังนี้ จึงเกิดมีพิธีกรรม ที่จะต้องปฏิบัติขึ้นและถือสืบ ๆ กันมาแต่โบราณกาล ฉะนั้น ในเรื่องพิธีทำบุญ หรือเรียกว่า บุญพิธี จึงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งจะนำมากล่าวในหมวดนี้ โดยแยกเป็น ๒ ประเภท คือ

     ๑. ทำบุญงานมงคล

     ๒. ทำบุญงานอวมงคล

     แต่ละประเภทมีความมุ่งหมายและเหตุผล ตลอดถึงระเบียบปฏิบัติพิธี แตกต่างออกไป เป็นกรณี ๆ อีกหลายอย่าง ดังจะนำมาชี้แจงแต่เพียงที่สำคัญ ๆ ให้เข้าใจต่อไป

งานมงคล 
พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่
 พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่  นิยมทำในเมื่อปลูกบ้านใหม่  ความประสงค์ในการทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ก็เพื่อขอให้เกิดความสุขสวัสดีจำเริญวัฒนา  ป้องกันสรรพพิบัติอุปัทวันตรายให้เว้นหนี  เป็นกุศลพิธีนิยมกันมาแต่ครั้งพุทธกาล
ลำดับพิธี
เวลา  ๑๐.๐๐ น.   - พระสงฆ์พร้อม
                   - เจ้าภาพจุดเทียน-ธูปบูชาพระรัตนตรัย
                   - พิธีกรนำกล่าวคำบูชาพระ  กราบพระ  และอาราธนาศีล
                   - พระสงฆ์ให้ศีล, เจ้าภาพและผู้ร่วมพิธีรับศีล
                   - พิธีกรอาราธนาพระปริตร
                   - พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
                   - เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ถึงบท “ อเสวนา จะ ฯลฯ”
                   - พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ
                   - เจ้าภาพจัดข้าวถวายพระพุทธ และภัตตาหารถวายพระสงฆ์ ตั้งด้านหน้าพระสงฆ์
                   - พิธีกรนำกล่าวถวายข้าวพระพุทธ และนำกล่าวถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์  จบแล้ว
                   - เจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์  พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จเรียบร้อย
                   - เจ้าภาพถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์
                   - พระสงฆ์อนุโมทนา
                   - เจ้าภาพกรวดน้ำ  รับพร
                   - ประธานสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ (พระสงฆ์นอกนั้นเจริญชัยมงคลคาถา),  เจิมประตูบ้าน  พร้อมทั้งประพรมน้ำพระพุทธมนต์ตามห้อง  ต่าง ๆ และบริเวณบ้าน
                   - เจ้าภาพกราบพระรัตนตรัย
                   - พระสงฆ์เดินทางกลับ
พิธีกรรมในงานมงคล (แต่งงาน)
 1. อาราธนาพระสงฆ์  เมื่อกำหนดวันงานที่แน่นอนแล้ว  ไปอาราธนาพระตามจำนวนที่ต้องการก่อนถึงวันงานอย่างน้อย 3 ถึง 7 วัน  การอาราธนานั้น  ถ้าสามารถเขียนหรือพิมพ์เป็นฎีกานิมนต์ได้  เป็นการดีที่สุด  โดยบอกกำหนด  วัน เดือน ปี เวลา และงานให้ละเอียด
 2. จำนวนพระที่นิมนต์  ตามปกติจำนวนนี้คือ 5 รูป 7 รูป 9 รูป  แต่ส่วนมากนิยมนิมนต์ 9 รูป  ถือกันว่าเลข 9 เป็นเลขมงคลขลังดี  งานนั้นจะได้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป
3. ตั้งโต๊ะหมู่บูชา  นิยมจัดไว้ทางด้านขวามือของพระสงฆ์  โดยให้พระพุทธผินพระพักตร์ไปด้านเดียวกับพระสงฆ์  ถ้าสถานที่อำนวยให้ผินพระพุทธรูปไปทางด้านทิศตะวันออก  หรือทิศเหนือ  ได้ยิ่งดี
4. ขันน้ำมนต์  จะใช้ขัน หรือบาตรหม้อน้ำมนต์มีเชิงก็ได้  ใส่น้ำสะอาดพอควร  มีเทียนน้ำมนต์ควรเป็นเทียนขี้ผึ้งอย่างดี 1-2 เล่ม  ใบเงินทองอย่างละ 5 ใบ มัดหญ้าคาหรือก้านมะยมสำหรับประพรมน้ำพระพุทธมนต์ 1 มัด  ถ้าใช้ใบมะยมใช้ก้านสด 9 ก้าน  ถ้ามีการเจิม  ก็เตรียมแป้งกระแจะ  ใส่น้ำหอมในผอบเจิมด้วย  ถ้ามีการปิดทองด้วย  ก็เตรียมทองคำเปลว  ไว้ตามต้องการวางใส่พาน  ตั้งไว้ข้างบาตรน้ำมนต์
 5. ด้ายสายสิญจน์  ใช้ด้ายดิบจับ 9 เส้น 1 ม้วน โยงรอบบ้านหรือบริเวณพิธี  เวียนจากซ้ายไปขวา  โยงเข้าหาพระประธานที่โต๊ะหมู่บูชา  เวียนซ้ายไปขวาเช่นเดียวกัน
6. การปูอาสนะสำหรับสงฆ์  ควรใช้เสื่อหรือพรมปูเสียชั้นหนึ่งก่อน  นิยมใช้กัน 2 วิธี  คือยกพื้นอาสนะสงฆ์ให้สูงขึ้น  โดยใช้เตียงหรือแคร่ม้ายาววางต่อกันให้พอจำนวนแก่สงฆ์
7. เครื่องรับรองพระภิกษุสงฆ์  ประกอบด้วย  กระโถน  ภาชนะน้ำเย็น  วางไว้ทางด้านขวามือของพระภิกษุสงฆ์เป็นรายรูป  ถ้าของมีจำกัดจะวาง 2 รูป ต่อ 1 ที่ก็ได้  วางเรียงจากด้านในมาหาข้างนอกตามลำดับ  คือกระโถนไว้ในที่สุด  ถัดมาภาชนะน้ำเย็น  ส่วนน้ำชาและเครื่องดื่ม  เมื่อพระภิกษุสงฆ์เข้านั่งเรียบร้อยแล้ว  ค่อยถวายก็ได้
8. ล้างเท้า – เช็ดเท้าพระภิกษุสงฆ์  เมื่อพระภิกษุสงฆ์เข้าประจำที่เรียบร้อยแล้ว  พึงเข้าประเคนของรับรองที่เตรียมไว้แล้ว  คือภาชนะน้ำเย็น  ประเคนของที่อยู่ด้านในก่อน  ตามด้วยน้ำชาหรือน้ำหวานต่างๆ  ถวายทีละรูปจนครบ
 9. ประเคนเครื่องรับรองแด่พระภิกษุสงฆ์  เมื่อพระภิกษุสงฆ์เข้าประจำที่เรียบร้อยแล้ว  พึงเข้าประเคนของรับรองที่เตรียมไว้แล้ว  คือภาชนะน้ำเย็น  ประเคนของที่อยู่ด้านในก่อน  ตามด้วยน้ำชาหรือน้ำหวานต่างๆ  ถวายทีละรูปจนครบ
10. จุดเทียนธูปและเครื่องสักการะ  เมื่อได้เวลาแล้วเจ้าภาพเริ่มต้นจุดเทียน  ธูป ที่โต๊ะบูชาด้วยตัวเอง  ไม่ควรให้คนอื่นจุดแทน  ให้ถือว่าเราทำเพื่อสิริมงคลของผู้ทำของเจ้าของงานนั้นๆ  และควรจุดเทียนเล่มที่อยู่ทางซ้ายมือของเราก่อน  แล้วจึงจุดเทียนเล่มขวามือ  เทียนไม่ควรให้เล่มเล็กเกินไป  เสร็จแล้วจุดธูป  ธูปควรปักไว้ในกระถางธูป  ให้ตั้งตรง  ถ้าเป็นงานมงคลสมรสคู่บ่าวสาวจุดเทียนกันคนละเล่ม  ธูปคนละ 3 ดอก  ผู้หญิงให้นั่งทางซ้าย  ผู้ชายนั่งทางขวา  แล้วกราบลงพร้อมกัน 3 ครั้ง  ประเคนด้ายสายสิญจน์แก่พระเถระผู้เป็นประธานสงฆ์ในพิธี
11. อาราธนาศีล  ถ้าเจ้าภาพสามารถอาราธนาศีลได้ด้วยตนเองยิ่งดี  ถ้าอาสนะสงฆ์สูง  ยืนอาราธนาก็ได้  ถ้าพระภิกษุสงฆ์นั่งกับพื้น  ควรคุกเข้าประนมมืออาราธนา  จบแล้วพึงตั้งใจรับศีลด้วยการเปล่งวาจาตามไป  การเปล่งวาจานี้ควรให้พระเถระผู้ให้ศีลได้ยินด้วย  ไม่ใช่รับศีลในใจ  เมื่อท่านให้ศีลจบพึงรับด้วยคำว่า “อามะ ภันเต”  หรือว่า  “สาธุ  ภันเต”
 12.  อาราธนาพระปริตร  เมื่อรับศีลจบแล้ว  พึงกราบลง 3 ครั้ง  หรือยืนไหว้แล้วแต่กรณี  อาราธนาพระปริตรต่อไป
 13.  จุดเทียนน้ำมนต์  เมื่อพระภิกษุสงฆ์สวดมนต์ถึงบทมงคลสูตร  ขึ้นบทว่า “อะเสวะนา  จะพาลานัง”  ให้เจ้าภาพจุดเทียนน้ำมนต์ติดกับบาตรหรือขันน้ำมนต์  ยกขันน้ำมนต์ถวายแด่ประธานสงฆ์  เหตุที่จุดเทียนน้ำมนต์ตอนนี้เพราะเทียนน้ำมนต์ใช้แทนเทียนมงคลจึงต้องจุด  เมื่อพระท่านสวดถึงบทมงคลสูตร  ก็เพื่อให้เป็นสิริมงคลในงานนั้น
 14. ถวายสำรับบูชาพระพุทธ  ถ้ามีการฉันเช้าหรือฉันเพลหลังจากพระเจริญพุทธมนต์เสร็จแล้ว  เมื่อพระท่านสวดถึงบท  “พาหุงสะหัสสะมะ  ภินิมมิตะสาวุธันตัง”  ถ้าเป็นงานมงคลสมรส  ให้คู่บ่าวสาวออกไปตักบาตร  โดยจับด้ามทัพพีเดียวกัน  มีคนคอยส่งข้าวของใส่บาตรแล้ว  ก็ควรนำสำรับบูชาพระพุทธมาถวายในขณะนั้น
15.  ประเคนอาหารพระภิกษุสงฆ์  ขณะประเคนอาหาร  ควรเข้าใกล้พระสงฆ์ประมาณ 1 ศอก  ยกของที่ประเคนให้สูงขึ้นจากพื้น  ไม่ควรกระทบต่อสิ่งกีดขวางอย่างอื่นสูงพอประมาณ  ของที่ประเคนแล้ว  ห้ามมิให้ถูกต้องอีก
16. การถวายเครื่องไทยธรรม เมื่อพระฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว  กรุณานำเครื่องไทยธรรมที่จะถวายมา เช่น  ดอกไม้ธูปเทียน  ห่อของถวายที่จัดเตรียมไว้  ถวายตามลำดับ  เริ่มตั้งแต่ประธานสงฆ์ลงไป  หากมีคนคอยช่วย  ก็นำสิ่งของไทยธรรมนั้นวางไว้ข้างหน้าพระภิกษุสงฆ์เป็นชุดๆ ไป  เจ้าภาพก็ค่อยประเคนตาม
17.  กรวดน้ำ  เมื่อประเคนของเรียบร้อยแล้วพึงตั้งใจกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลที่เราทำบุญครั้งนี้  ให้แก่บุพการีชน  แก่เทวดา  แก่คู่กรรมคู่เวร  ขอให้กุศลผลบุญที่กระทำในวันนี้  จงเป็นผลสำเร็จแก่ตนเองและครอบครัว  ตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วยความปรารถนานั้นๆ  น้ำที่กรวดนั้นต้องเป็นน้ำสะอาดไม่มีสิ่งเจือปน  ควรเตรียมไว้ล่วงหน้าซึ่งมีคนโทสำหรับกรวดน้ำโดยเฉพาะ
18.  การประพรมน้ำพระพุทธมนต์  ก่อนพระภิกษุท่านจะกลับวัด  เจ้าภาพที่มีความประสงค์จะให้พรมน้ำพระพุทธมนต์ให้  ก็พึงเรียนท่านและบอกญาติพี่น้องให้เข้ามารวมกัน  นั่งประนมมือ  หรือหมอบลงรับน้ำพระพุทธมนต์พร้อมกัน
 19.  ส่งพระภิกษุสงฆ์กลับวัด  เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว  พระภิกษุสงฆ์ลากลับวัด  เจ้าภาพพึงตามส่งถึงรถ  หรือประตูบ้านซึ่งเตรียมไว้แล้ว
 20.  นำของที่ยืมมาคืนวัดให้เรียบร้อย  เสื่อ หมอน  หรือพรม  โต๊ะบูชาเครื่องใช้ที่ยืมมาจากวัดก็พยายามอย่างยิ่งอย่าให้แปดเปื้อน  หรือแตกหักเสียหาย  เพราะเป็นสมบัติของสงฆ์  ถ้าเกิดเสียหายไปด้วยประการใดก็ดี  เจ้าภาพพึงสำนึก  ของเหล่านี้เป็นของสาธารณสมบัติ  ไม่ควรดูดายต้องหามาชดใช้แทนและทำความสะอาดให้เรียบร้อย  นำส่งตรวจสอบให้ถูกต้อง  เท่าที่ยืมมาใช้  เพื่อเป็นตัวอย่างต่อไป

พิธีทำบุญเลี้ยงพระ
    การทำบุญเลี้ยงพระ ตามปกติที่ทำกัน มักนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ในสถานที่ที่ประกอบพิธีในตอนเย็น เรียกกันอย่างสามัญว่า สวดมนต์เย็น รุ่งขึ้น เวลาเช้า (บางกรณี เวลาเพล) ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อเย็นวานนั้นเรียกกันว่า เลี้ยงพระเช้า (เลี้ยงพระเพล) หรือฉันเช้า (ฉันเพล) และในคราวเดียวกันก็มีการตักบาตรด้วย บางคนมีเวลาน้อย ย่นเวลามาทำพร้อมกัน ในวันเดียว ในตอนเช้าหรือตอนเพลตามความสะดวก โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ มาเจริญพระพุทธ มนต์ก่อน จบแล้วถวายภัตตาหารให้เสร็จสิ้นในเวลา เดียวกัน อย่างนี้เรียกว่า ทำบุญเลี้ยงพระ
   การทำบุญเลี้ยงพระนี้ นิยมทั้งในงานมงคลและงานอวมงคลทั่วไป ที่เรียกว่า ทำบุญ งานมงคลนั้น ได้แก่ การทำบุญเลี้ยงพระดังกล่าว เพื่อความสุขความเจริญแก่จิตใจ โดยปรารภ เหตุที่ดีเป็นมูล เกี่ยวกับฉลองความสำเร็จในชีวิต เช่น ฉลองพระบวชใหม่ เป็นต้น หรือเกี่ยวกับ การริเริ่มชีวิตใหม่เพื่อให้เกิดความสำเร็จ ตามปรารถนาด้วยดี ตลอดไป เช่น ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญแต่งงาน หรือเรียกว่ามงคลสมรส เป็นต้น ส่วนที่เรียกว่า ทำบุญงานอวมงคล ได้แก่ การทำบุญเลี้ยงพระเพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขโดยปรารภเหตุไม่สู้ดี เนื่องจากมีการตาย ขึ้นในวงญาติ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องในครอบครัวจัดการทำบุญขึ้น เพื่อให้สำเร็จเป็นประโยชน์ เกื้อกูล และความสุขแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อเป็นมิ่งขวัญกลาย ๆ แก่ผู้ที่ยังอยู่ งานทำบุญ โดยปรารภเหตุนี้ เรียกว่า ทำบุญงานอวมงคล
     การทำบุญทั้ง ๒ ประเภทนี้ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติมี ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายทายก ทายิกาผู้ประกอบด้วยต้องการบุญ เรียกว่า ฝ่ายเจ้าภาพ ๑ ฝ่ายปฏิคาหก ผู้รับทานและ ประกอบพิธีกรรมตามความประสงค์ของเจ้าภาพ ซึ่งเป็นพระภิกษุสงฆ์ เรียกว่า ฝ่ายภิกษุสงฆ์อีก ๑ ทั้งสองฝ่ายนี้มีระเบียบปฏิบัติพิธี กำหนดไว้เพื่อความเรียบร้อยโดยเหมาะสมแต่ละประเภท ของงาน เป็นขนบประเพณีสืบมา ดังต่อไปนี้
ระเบียบพิธี
 ๑. ทำบุญงานมงคล
     พิธีฝ่ายเจ้าภาพ ผู้ที่จะทำบุญเนื่องในงานมงคลต่าง ๆ นั้น ในที่นี้เรียกว่า “เจ้าภาพ” เบื้องต้นจะต้องตระเตรียมกิจการต่าง ๆ ที่ควรทำก่อน ดังนี้
       ก. อาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
       ข. เตรียมที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา
       ค. ตกแต่งสถานที่บริเวณพิธี
       ฆ. วงด้ายสายสิญจน์
       ง. เชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนที่บูชา
       จ. ปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์
       ฉ. เตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ตามควรแก่ฐานะ
       ช. ตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์
     เมื่อพระสงฆ์มาถึงแล้วตามเวลากำหนด จะต้องปฏิบัติกรณียกิจ ดังต่อไปนี้
       ก. คอยล้างเท้าพระสงฆ์และเช็ดด้วย (ปัจจุบันพระสงฆ์สวมรองเท้า และเท้าไม่สกปรก จึงไม่ต้องล้างเท้า    ก็ได้)
       ข. ประเคนเครื่องรับรองที่จัดไว้
       ค. ได้เวลาแล้ว จุดเทียนธูปที่โต๊ะบูชา บูชาพระแล้วกราบนมัสการ ๓ ครั้ง
       ฆ. อาราธนาศีล และรับศีล
       ง. ต่อจากรับศีล อาราธนาพระปริตร เสร็จแล้วไหว้หรือกราบแล้วแต่กรณี
       จ. นั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อจบแล้ว ถวายน้ำร้อนหรือ เครื่องดื่ม
อันควรแก่สมณะ แล้วแต่จะจัด
     ๒. เรื่องเตรียมที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา ที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา ในงานพิธีต่าง ๆ นั้น นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “โต๊ะบูชา” สิ่งสำคัญของโต๊ะบูชานี้ ประกอบด้วยโต๊ะรอง ๑ เครื่องบูชา ๑ โต๊ะรองเป็นที่รองรับพระพุทธรูป และเครื่องบูชาปัจจุบันนี้นิยมใช้กันทั่วไป เป็นโต๊ะหมู่ซึ่งสร้างไว้โดยเฉพาะ เรียกกันว่า โต๊ะหมู่บูชา มีเป็นหมู่ ๕ หมู่ ๗ และหมู่ ๙ หมายความว่าหมู่หนึ่ง ๆ ประกอบด้วยโต๊ะ ๕ ตัว ๗ ตัว และ ๙ ตัว ก็เรียกว่าหมู่เท่านั้นเท่านี้ ถ้าในที่ที่หาโต๊ะหมู่ไม่ได้ จะใช้ตั่งอะไรที่สมควรซึ่งไม่สูงหรือต่ำเกินไปนักจัดเป็นโต๊ะบูชาในพิธีก็ได้ โต๊ะหรือตั่งนั้นต้องใช้ผ้าขาวปูพื้นก่อน ถ้าหาผ้าขาวไม่ได้จำเป็นจะใช้ผ้าสี ต้องเป็นผ้าสะอาด และยังมิได้ใช้การอย่างอื่น มาเป็น เหมาะสมที่สุด ผ้าอะไรก็ตามถ้าแสดงลักษณะชัดว่าเป็นผ้านุ่งแล้ว ไม่สมควรอย่างยิ่ง
๓. เรื่องตกแต่งสถานที่บริเวณพิธี นิยมให้สะอาดเรียบร้อยเป็นสำคัญ เพราะเป็นการ ทำบุญต้องการสิริมงคล และออกแขกด้วยความสะอาด เรียบร้อยทุกอย่าง เป็นสิ่งที่ควรกระทำ อย่างยิ่ง ถ้าได้เพิ่มการตกแต่งเพื่อความสวยงามขึ้นอีก ก็เป็นการดียิ่ง ทั้งนี้สุดแต่ฐานะและกำลัง ของตนเป็นสำคัญ
๔. เรื่องวงด้ายสายสิญจน์ คำว่า สิญจน์ แปลว่า การรดน้ำ คือ การรดน้ำ ด้วยพิธี สืบเนื่องมาแต่พิธีพราหมณ์ เดิม “สาย” เข้าข้างหน้า เป็นสายสิญจน์ กลายเป็นวัตถุชนิดหนึ่ง ที่นำมาใช้ในงานมงคลต่าง ๆ
     ๕. เรื่องเชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนที่บูชา เป็นกิจที่พึงทำเมื่อใกล้จะถึงกำหนดเวลา ประกอบพิธีพระพุทธรูปนั้นจะเป็นพระปางอะไรก็แล้วแต่จะหาได้ ขอให้เป็นพระพุทธรูปเท่านั้น ไม่ใช่พระเครื่องซึ่งเล็กมากไม่เหมาะแก่พิธี พระพุทธรูป ถ้ามีครอบควรเอาครอบออก ตั้งเฉพาะ องค์พระเท่านั้น และที่องค์พระไม่สมควรจะนำ อะไรที่ไม่เหมาะสมประดับ เช่น พวงมาลัยหรือ ดอกไม้ เป็นต้น ควรให้องค์พระเด่น เป็นสำคัญ เว้นแต่ที่ฐานพระจะใช้พวงมาลัยวงรอบฐาน กลับดูงามดีไม่มีข้อห้าม ดอกไม้บูชามีระเบียบจัดดังกล่าวแล้วในเรื่องตั้งเครื่องบูชา ก่อนที่จะ ยกพระพุทธรูป จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งก็ดี ในขณะที่วางพระพุทธรูปลง ณ ที่บูชาก็ดี ควรจะ น้อมไหว้ ก่อนยก หรือน้อมไหว้ในเมื่อวางลงแล้ว เป็นอย่างน้อย ถ้าถึงกราบได้เป็นงดงาม
     ๖. เรื่องปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์ นิยมใช้กันอยู่ ๒ วิธี คือ ยกพื้นอาสน์สงฆ์ ให้สูงขึ้นโดยใช้เตียงหรือม้าวางต่อกันเข้าให้ยาวพอแก่จำนวนสงฆ์ อีกวิธีหนึ่ง ปูลาดอาสนะ บนพื้นธรรมดา อาสน์สงฆ์ชนิดยกพื้นนิยมใช้ผ้าขาวปูลาด จะมีผ้านิสีทนะ (ผ้าปูนั่ง) ปูอีกชั้นหนึ่ง หรือไม่ก็ได้ โดยเฉพาะอาสน์สงฆ์ยกพื้นนี้ มักจัดในสถานที่ที่ฝ่ายเจ้าภาพนั่งเก้าอี้กัน ส่วนอาสนะ ชนิดที่ปูลาดบนพื้นธรรมดา จะใช้เสื่อหรือพรมหรือผ้าที่สมควรปูก็สุดแต่จะมีหรือหาได้ ข้อที่ควร ระวัง คือ อย่าให้อาสนะพระสงฆ์กับอาสนะของคฤหัสถ์ฝ่ายเจ้าภาพเป็นอันเดียวกัน ควรปูลาด ให้แยกจากกัน ถ้าจำเป็นแยกไม่ได้โดยปูเสื่อหรือพรมไว้เต็มห้องสำหรับอาสนะพระสงฆ์ ควรจัด ปูทับเสื่อหรือพรมนั้นอีกชั้นหนึ่งจึงจะเหมาะ
     ๗. เรื่องเตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ ตามแบบและประเพณี ก็มีหมากพลู บุหรี่ น้ำร้อน น้ำเย็น และกระโถน การวางเครื่องรับรองเหล่านี้มีหลักว่า ต้องวางทางด้านขวามือของพระ ระหว่างรูปหนึ่งกับอีกรูปหนึ่งที่นั่งเรียงกัน ด้านขวามือของรูปใด ก็เป็นเครื่องรับรองของรูปนั้น การวางให้วางกระโถนข้างในสุด เพราะเป็นสิ่งไม่ต้องประเคน ถัดออกมาภาชนะน้ำเย็น ออกมา อีกเป็นภาชนะใส่หมากพลูบุหรี่ ซึ่งรวมอยู่ในที่เดียวกัน เมื่อพระสงฆ์นั่งก็ประเคนตั้งแต่ข้างใน ออกมาหาข้างนอก คือ น้ำเย็น แล้วหมากพลูบุหรี่ ส่วนน้ำร้อนจัดประเคน ตั้งแต่ข้างในออกมา หาข้างนอก คือ น้ำเย็น แล้วหมากพลูบุหรี่ ส่วนน้ำร้อนจัดประเคนภายหลัง ไม่ต้องตั้งประจำ ที่เหมือนอย่าง เครื่องดังกล่าวแล้ว เครื่องรับรองดังกล่าวนี้ ถ้าจำกัด จะจัดรับรอง ๒ รูป ต่อ ๑ ที่ก็ได้ และให้จัดวางตามลำดับ ในระหว่างรูปที่ต้องการให้ใช้ร่วมกัน
     ๘. เรื่องตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์ ควรเตรียมภาชนะเป็นประการแรก ถ้าไม่มีครอบ น้ำมนต์ ซึ่งเป็นของสำหรับใส่น้ำมนต์โดยเฉพาะ จะใช้บาตรของพระหรือขันน้ำ พานรองแทนก็ได้ แต่ขันต้องไม่ใช่ขันเงินหรือทองคำ เพราะเงินและทองเป็นวัตถุ อนามาสไม่ควรแก่การจับต้อง ของพระ ต่อไปก็หาน้ำสะอาดใส่ในภาชนะ ห้ามไม่ให้ใช้น้ำฝน ทั้งนี้เห็นจะเป็นด้วยถือว่า น้ำที่ จะศักดิ์สิทธิ์ขึ้นได้ ต้องมาจากธรณี ส่วนน้ำฝนมาจากอากาศจึงไม่นิยม น้ำที่ใส่ควรใส่แต่เพียง ค่อนภาชนะเท่านั้น ควรหาใบเงินใบทอง ใส่ลงไปด้วยแต่เพียงสังเขปเล็กน้อย (ถ้าหาไม่ได้ จะใช้ ดอกบัวใส่แทนก็ได้ แต่ดอกไม้อื่นไม่ควร) ต้องมีเทียนน้ำมนต์อีกหนึ่งเล่ม ควรเป็นเทียนขี้ผึ้งแท้ ขนาดหนัก ๑ บาทเป็นอย่างต่ำ ติดที่ปากบาตรหรือขอบขัน หรือบนยอดจุกฝาครอบน้ำมนต์ ไม่ต้องจุด แล้วนำไปวางไว้หน้าโต๊ะบูชาให้ค่อนมาทางอาสนะพระสงฆ์ ใกล้กับรูปที่เป็นหัวหน้า เพื่อหัวหน้าจะได้หยดเทียนทำน้ำมนต์ในขณะสวดมนต์ได้สะดวก
     ๙. เรื่อง จุด เทียน ธูป ที่โต๊ะบูชา เจ้าภาพควรจุดเอง ไม่ควรให้คนอื่นจุดแทน เพราะเป็น การนมัสการพระอันเป็นกิจเบื้องต้นของบุญ การจุดควรจุดเทียนก่อน จุดด้วยไม้ขีดหรือเทียน ชนวน อย่าต่อจากตะเกียง หรือไฟอื่น เทียนติดดีแล้ว ใช้ธูป ๓ ดอกจุดต่อที่เทียนจนติดดี จึงปักลงให้ตรง ๆ ในกระถางธูป แล้วตั้งใจบูชาพระ
     ต่อจากนี้จึงดำเนินพิธีไปตามลำดับ คืออาราธนาศีล รับศีลแล้ว อาราธนาพระปริตร วิธีอาราธนาจักกล่าวต่อไปข้างหน้า
พออาราธนาพระปริตรจบแล้ว พระสงฆ์เริ่มสวดมนต์ ทุกคนที่อยู่ในบริเวณพิธี พึงนั่ง ประนมมือฟังพระสวดด้วยความเคารพ พอพระเริ่มสวดมงคลสูตรขึ้นต้นบท
อเสวนา จ พาลานํ เป็นต้น เจ้าภาพพึงเข้าไปจุดเทียนน้ำมนต์ที่บาตร หรือครอบน้ำมนต์หน้าพระแล้วประเคนบาตร หรือครอบน้ำมนต์นั้นต่อหัวหน้าสงฆ์ เพื่อท่านจะได้ทำน้ำมนต์ต่อไป
     ๑๐. ข้อปฏิบัติวันเลี้ยงพระ ถ้าเลี้ยงพระในวันรุ่งขึ้น การเตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ พึงจัดอย่างวันสวดมนต์เย็น เมื่อพระภิกษุสงฆ์มาพร้อมตามเวลาแล้ว เจ้าภาพพึงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชาพระแล้วอาราธนาศีลและรับศีลอย่างเดียวกับวันก่อน เสร็จแล้วไม่ต้องอาราธนา พระปริตร พระสงฆ์จะเริ่มสวดถวายพรพระเอง ถ้ามีการตักบาตรด้วย พึงเริ่มลงมือตักบาตร ขณะพระสงฆ์สวดถึงบท พาหุํ และให้เสร็จก่อน พระสงฆ์สวดจบ เตรียมยกบาตรและภัตตาหาร มาตั้งไว้ให้พร้อม พอสวดจบก็ประเคนให้ พระฉันได้ทันที ถ้าไม่มีตักบาตรเจ้าภาพก็นั่งประนมมือ ฟังพระสวดไปพอสมควรแล้ว เตรียมตั้งภัตตาหารเมื่อพระสวดจวนจบ
     แต่ถ้าเป็นงานวันเดียว คือ สวดมนต์ก่อนฉัน การตระเตรียมต่าง ๆ ก็คงจัดครั้งเดียว พระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ก่อน แล้วสวดถวายพรพระต่อท้าย เจ้าภาพพึงนั่งประนมมือฟัง เมื่อพระสงฆ์สวดถึงบทถวายพรพระ จึงเตรียมภัตตาหารไว้ให้พร้อม พอพระสวดจบก็ยกประเคน ได้
     สุดท้ายพิธี เมื่อพระภิกษุสงฆ์ฉันอิ่มแล้ว ถวายเครื่องไทยธรรม ต่อนั้น พระสงฆ์ อนุโมทนา ขณะพระว่าบท ยถา... ให้เริ่มกรวดน้ำให้เสร็จก่อนจบบท ยถา... พอพระว่าบท สพฺพีติโย... พร้อมกัน ถึงประนมมือรับพรตลอดไปจนจบ แล้วส่งพระกลับ
      อนึ่ง การเลี้ยงพระในพิธีทำบุญเลี้ยงพระนี้ มีประเพณีโบราณสืบเนื่องกันมานาน อย่างหนึ่ง คือ ประเพณีถวายข้าวพระพุทธ เห็นจะเนื่องมาจากถือว่า พระสงฆ์ที่นิมนต์มาฉัน ในพิธีนั้นมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตามหลักพระบาลีที่กล่าวมาแล้ว ฉะนั้นการถวายภัตตาหาร แก่พระสงฆ์ ก็ต้องถวายองค์ประมุข คือ พระพุทธเจ้าด้วย แม้พระองค์ปรินิพพานไปนานแล้ว ก็จำต้องทำการถวายต่อพระพักตร์พระพุทธรูป ให้เป็นกิริยาสำเร็จรูปสมตามเจตนานั้น เหตุนี้ ในงานทำบุญ ไม่ว่างานมงคลหรืองานอวมงคล จึงนิยมถวายภัตตาหารแด่พระพุทธรูปด้วย ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า ถวายข้าวพระพุทธ ถ้ามีตักบาตรก็ต้องตั้งบาตรพระพุทธไว้หัวแถว ด้วยเช่นกัน ข้าวพระพุทธที่ถวายนั้นนิยมจัดอย่างเดียวกับที่ถวายพระสงฆ์เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว ข้าวพระพุทธนั้นตกเป็นของมรรคนายกวัด หรืออุบาสกอุบาสิกาผู้มาในงาน แต่บางงานเนื่องด้วยที่ จำกัดหรือจะเป็นเพราะเรียว
งานบวช
1. โกนผมนาค เริ่มโดยพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่  หรือผู้ที่มาร่วมบุญงานบวชพระในครั้งนี้ ทำการขลิบผมให้นาคเป็นปฐมฤกษ์ จากนั้นพระสงฆ์จะทำการโกนผมให้นาค ตามประเพณีการบวชพระที่ปฏิบัติโดยทั่วกันนั้น ผมนาคที่โกนแล้วจะห่อด้วยใบบัวแล้วนำไปลอยที่แม่น้ำหรือวางไว้ใต้ร่มโพธิ์   โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข   ในการปลงผมนั้นจะปลงที่บ้านหรือที่วัดก็ได้แล้วแต่ความสะดวก   แต่โดยทั่วไปนิยมปลงผมที่วัดมากกว่า  เนื่องจากญาติหรือแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานจะได้มีโอกาสร่วมพิธีตัดผมนาค อีกทั้งยังเป็นการประหยัดเวลาของเจ้าภาพและแขกที่มาร่วมงานอีกด้วย เพราะเมื่อปลงผมเสร็จจะได้ทำพิธีเวียนประทักษิณรอบสีมา และเข้าอุโบสถประกอบพิธีอุปสมบทต่อไป
2. แต่งตัวนาค  การแต่งตัวนาคนั้นควรแต่งด้วยชุดขาวทั้งหมด ซึ่งจะบ่งบอกถึงความสะอาดบริสุทธิ์ ทั้งกาย วาจา ใจ ของผู้ที่จะบวช การแต่งตัวนาค ไม่ควรมีเครื่องประดับประดามากจนเกินไป   โดยขอแนะนำเครื่องแต่งตัวนาคตามประเพณีนิยมดังนี้ 1. เสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว 2. สบงขาว 3. อังสะขาว 4. เข็มขัด หรือสายรัดสำหรับรัดสบง ในส่วนเข็มขัดนี้ ใช้สำหรับรัดสบงขาว  ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมใช้เข็มขัดนาค  ในกรณีที่ไม่มีเข็มขัดนาคจะใช้เข็มขัดอย่างอื่นหรือสายรัดแทนก็ได้  ไม่ใช่ข้อกำหนดตายตัว แต่การใช้เข็มขัดนาคเป็นการปฏิบัติตามประเพณีการบวชพระที่นิยม เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า  "นาค"  ซึ่งเป็นชื่อเรียกผู้ที่จะบวชในพระพุทธศาสนาเท่านั้น  5. เสื้อคลุมนาค 6. สร้อยคอ หากมีสร้อยคอจะสวมให้นาคก็ได้ หรือไม่สวมก็ได้ แต่ไม่ควรคล้องพวงมาลัยให้นาค เพราะจากนาคจะกลายเป็นนักร้องแทน

      3. การเดินประทักษิณเวียนขวารอบสีมา  การเวียนประทักษิณในทางพระพุทธศาสนา คือ การกระทำที่สุจริตถูกต้องชอบธรรมทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ การหมุนไปทางขวา คือการหมุนไปสู่ความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ ตรงกันข้ามกับการหมุนไปด้านซ้ายเป็นการหมุนทวนความดี คือ การกระทำที่เป็นทุจริตทางกาย วา และใจ การทำประทักษิณเวียนขวารอบสีมาก่อนเข้าอุโบสถของผู้ที่จะบวชพระนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพตามธรรมเนียมโบราณแล้ว ยังเป็นอุบายที่คนโบราณสอนให้รู้ว่า สิ่งที่จะทำต่อไปนี้เป็นการกระทำที่สุจริตถูกต้องชอบธรรมทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
4. การบรรพชา (บวชสามเณร)  เมื่อนาคได้เข้าไปในอุโบสถแล้ว  นาคจะวันทาพระประธานอีกครั้งด้วยวิธีอย่างเดียวกันกับวันทาสีมา จากนั้นกลับไปนั่ง ณ สถานที่ที่จัดเตรียมไว้สำหรับนาค บิดา มารดา (หรือญาติผู้ใหญ่)มอบผ้าไตรให้นาค นาคคุกเข่ากราบ 3 หน ยื่นแขนประณมมือรับผ้าไตร จากนั้นประณมมือประคองผ้าไตรเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ เมื่อถึงแนวพระสงฆ์ให้คุกเข่าลงแล้วคลานเข่าเข้าไปถวายผ้าไตรนั้นแก่ท่าน รับดอกไม้ ธูปเทียนแพเครื่องสักการะ (มีผู้ส่งให้ข้างหลัง) ถวายพระอุปัชฌาย์ กราบลง 3 หน พระอุปัชฌาย์มอบผ้าไตรคืนให้ ประณมมือประคองผ้าไตร กล่าวคำ ขอบรรพชา นาคโน้มตัวเข้าไปใกล้ๆ พระอุปัชฌาย์เพื่อคล้องผ้าอังสะให้ จากนั้นนั่งพับเพียบลงประณมมือ ตั้งใจฟังโอวาทของพระอุปัชฌาย์


      5. การอุปสมบท (การบวชพระ)  การอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุนี้  มีข้อที่ควรทำความเข้าใจ  คือ ถึงแม้จะบวชเป็นพระภิกษุ  แต่ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการบวชเป็นสามเณรก่อนทุกครั้ง  ผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุต้องขอนิสัยจากพระอุปัชฌาย์ การจะอุปสมบทบวชเป็นพระภิกษุ บริขารต้องครบทุกอย่างที่เรียกว่าบริขาร 8 จึงจะสามารถบวชได้   สามเณรรับบาตรจากบิดามารดาที่นำมาประเคนเดินด้วยเข่าเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์ น้อมบาตรถวายท่าน กราบลง 3 หน  แล้วยืนขึ้นกล่าวคำขออุปสมบท
6. การซักซ้อมอันตริยกธรรม  อันตริยกธรรม  แปลว่า  ธรรมที่เป็นอันตรายต่อการบวช  การซักซ้อมอันตริยกธรรม  หมายถึง การซักซ้อมสอบถามสิ่งที่เป็นข้อห้ามสำหรับผู้ที่จะบวชเป็นพระภิกษุ  เช่น  ไม่เป็นโรคน่ารังเกียจ  ไม่ทุพลภาพจนช่วยเหลือตนเองไม่ได้  ไม่มีหนี้สินติดตัว  มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์  เป็นต้น  การซักซ้อมอันตรายิกธรรมเป็นการทำความเข้าใจระหว่างพระคู่สวดกับผู้ที่ขอ บวชเป็นพระภิกษุว่า  หากมีข้อห้ามเหล่านี้แล้วบวชเป็นภิกษุไม่ได้   ซึ่งผู้ขอบวชจะต้องตอบคำถามเหล่านี้ตามความเป็นจริง ท่ามกลางสงฆ์ จากนั้น ฟังสวดญัตติจตุตถกรรมวาจาเพื่อยกสามเณรขึ้นเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด  เสร็จแล้วกราบ 3 หน ประณมมือคลานเข่าถอยหลังออกไป พอพ้นพระสงฆ์แล้วลุกขึ้นไปยืนอยู่ที่เดิม ในกรณีที่พระอุปัชฌาย์ไม่บอกอนุศาสน์เอง  ท่านจะมอบให้พระคู่สวดเป็นผู้บอกอนุศาสน์  พระคู่สวดเดินตามไปยืนบนอาสนะสวดบอกอนุศาสน์   การสวดบอกอนุสาสน์ท่านจะบอกเป็นภาษาบาลีไว้ก่อนพระใหม่ฟังสวดอนุศาสน์ไปจนจบ   เมื่อกลับถึงที่พักแล้ว  พระอาจารย์หรือพระพี่เลี้ยงจะแนะนำรายละเอียดเกี่ยวกับอนุศาสน์อีกครั้ง
  อนุศาสน์ หมายถึง คำสอนหรือคำชี้แจงที่พระอุปัชฌาย์หรือพระกรรมวาจาจารย์บอกแก่พระภิกษุผู้บวชใหม่หลังจากบวชเสร็จ คล้ายเป็นบทปฐมนิเทศ ซึ่งมีข้อบังคับไว้ว่าจะต้องบอกอนุศาสน์แก่ภิกษุผู้บวชใหม่ จะไม่บอกไม่ได้เพราะเป็นเรื่องที่พระบวชใหม่ต้องรู้เป็นเบื้องต้นทั้งนี้ เพื่อมิให้ทำผิดพลาดด้วยไม่รู้มาก่อน อนุศาสน์มีเนื้อความกล่าวถึง นิสสัย (สิ่งที่พระภิกษุทำได้) และ อกรณียกิจ (สิ่งที่พระไม่ควรทำ) คือ
1. เที่ยวบิณฑบาต ชีวิตพระภิกษุในพระพุทธศาสนาไม่มีอาชีพอื่น เช่น ไม่มีอาชีพทำนา ทำไร่ ค้าขาย เป็นต้น แต่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการขออาหารจากชาวบ้าน ความหมายของคำว่า ภิกษุ นัยหนึ่งแปลว่าผู้เห็นภายในวัฏสงสาร  อีกนัยหนึ่งแปลว่า ผู้ขอโดยกิริยามิใช่โดยการออกปาก การบิณฑบาตจึงเป็นการเลี้ยงชีพที่บริสุทธิ์สำหรับภิกษุ  ตามวิถีทางแห่งพระพุทธศาสนา
  2. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล  ผ้าบังสุกุล  คือ ผ้าที่ภิกษุเก็บเศษผ้าท่อนเล็กท่อนน้อยซึ่งตกอยู่ตามพื้นดิน เปื้อนผุ่นไม่สะอาด ไม่สวยไม่งาม  โดยที่สุดแม้ผ้าที่เขาใช้ห่อศพ ตกอยู่ตามป่าช้า  ภิกษุเก็บมาเย็บปะต่อกันเป็นผืน ซัก เย็บ ย้อมใช้เป็นจีวรสำหรับนุ่งห่ม ปัจจุบันภิกษุใช้ผ้าสำเร็จรูปที่ชาวบ้านถวายได้
 3. อยู่โคนต้นไม้  ชีวิตพระภิกษุในพระพุทธ ศาสนาต้องสละบ้านเรือน ออกบวชเป็นผู้ไม่มีบ้านเรือน  จึงต้องอาศัยอยู่ตามร่มไม้ ป่าเขา เงื้อมผา  เถื่อนถ้ำ  ภายหลังมีผู้เลื่อมใสสร้างวัดถวาย  ปัจจุบันจึงมีวัดวาอารามเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับพระภิกษุ
  4. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า   ธรรมดาสังขารร่างกายเต็มไป ด้วยโรคภัยไข้เจ็บ การจะไม่มีโรคนั้นเป็นไม่มี พระพุทธองค์จึงอนุญาตให้พระภิกษุฉันสมอและมะขามป้อมดองด้วยน้ำปัสสาวะเป็นยา ได้ตลอดเวลา   เพื่อจะได้เป็นผู้มีโรคน้อย   และมีกำลังในการบำเพ็ญกิจสงฆ์ ส่วนกิจที่พระภิกษุทำไม่ได้  เรียกว่า อกรณียกิจ มี 4 ข้อ ดังนี้
 1. เสพเมถุน พระภิกษุมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่ากับคนหรือสัตว์ ทั้งที่มีชีวิตหรือตายแล้ว ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที  
 2. ลักขโมย ภิกษุลักทรัพย์มีราคาตั้งแต่ 5 มาสกขึ้นไป ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระภิกษุทันที
 3. ฆ่ามนุษย์  ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์หรือใช้ผู้อื่นให้ฆ่า   หรือทำอาวุธให้เขาด้วยเจตนาจะให้เขาฆ่าตัวตาย  หรือบังคับให้เขากินยาพิษ   หรือกล่าวพรรณนาคุณของความตายเพื่อให้เขาฆ่าตัวตาย   ทำคาถาอาคมฆ่าด้วยคุณไสย โดยที่สุดแม้การทำแท้งและแนะนำวิธีการฆ่าด้วยอุบายต่าง  ๆ  ขาดจากความเป็นพระภิกษุ
 4. พูดอวดคุณวิเศษที่ตนเองไม่มี การพูดอวดคุณวิเศษ หมายถึง คุณวิเศษที่เกิดจาการปฏิบัติธรรม เจริญสมาธิวิปัสสนาจนได้บรรลุคุณวิเศษทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ฌาน  4  คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน  วิชชา 3  คือ  ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ การระลึกชาติได้   จตูปปาตญาณ  ญาณกำหนดการเกิดการตายของสรรพสัตว์  และอาสวักขยญาณ  ญาณที่รู้การทำลายกิเลส เป็นต้น  ที่ตนเองไม่มี ไม่ได้บรรลุ  เพื่อต้องการให้คนอื่นนับถือศรัทธา  โดยหวังลาภสักการะชื่อเสียงเกียรติยศ หรืออื่นใดก็ตาม  ขาดจากความเป็นภิกษุ  การบอกอนุศาสน์  พระอุปัชฌาย์จะเป็นผู้บอกพระภิกษุใหม่ทันทีภายหลังจากบวชเสร็จสิ้นลงแล้ว เพื่อสอนให้รู้ถึงการดำเนินชีวิตอย่างพระภิกษุ  และการป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในการเป็นพุทธบุตร อนุศาสน์ทั้ง 8 ข้อนี้ท่านจะสวดเป็นภาษาบาลี สวดจบแต่ละข้อให้พระภิกษุใหม่รับ "อามะ ภันเต"
7. การกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล
  1. ควรเตรียมน้ำสะอาดใส่ภาชนะที่ง่ายแก่การหลั่งริน
   2. มือขวาใช้จับ มือซ้ายประคองหลั่งน้ำ
   3. เมื่อพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนาบท “ยะถา วาริวหา ปูรา” ให้เริ่มกรวดน้ำ
     4. น้ำที่กรวดควรให้ไหลติดต่อกันไม่ขาดสายไม่หลั่งน้ำลงบนฝ่ามือหรือใช้นิ้วรองน้ำ    
     5. ตั้งใจอุทิศส่วนบุญในใจไปจนจบหรือกล่าวคำอุทิศส่วนบุญว่า “อิทัง เม      ญาตินัง  โหตุ”  ขอบุญกุศลนี้ จงสำเร็จประโยชน์แก่ญาติทั้งหลายของ     ข้าพเจ้าด้วยเถิด
     6. เมื่อพระสวดถึงตอนที่ว่า “มะณิ โชติระโส ยะถา” ควรหลั่งน้ำที่มีอยู่ให้หมดแล้วประนมมือรับพรจากพระ
 เมื่อเสร็จพิธีตามที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ เป็นอันจบพิธีบรรพชาและอุปสมบท พระพุทธศาสนาก็จักได้ศาสนทายาทเพิ่ม เพื่อมาช่วยกันทำนุบำรุงให้พุทธศาสนาเจริญยิ่งๆ ขึ้นไป อีกทั้งการมีโอกาสได้บวชพระดำรงเพศสมณะเป็นผู้ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเอง แม้อาจเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ก็สามารถค้นหาแหล่งความสุขที่แท้จริง ศึกษาเรื่องราวความจริงของชีวิต เป้าหมายของการเกิดมาเป็นมนุษย์ ว่าเกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน บาปบุญคุณโทษ นรกสวรรค์ ภพนี้ภพหน้าและสังสารวัฏ ซึ่งเป็นความรู้ที่มีอยู่แต่ในพระพุทธศาสนาที่ทนทานต่อการพิสูจน์ แม้เวลาจะผ่านไปยาวนานแค่ไหน



ทำบุญงานอวมงคล
     การทำบุญงานอวมงคล หมายถึง การทำบุญเกี่ยวกับเรื่องการตายดังกล่าวแล้ว นิยมทำกันอยู่ ๒ อย่างคือ ทำบุญหน้าศพ ที่เรียกกันว่าทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน หรือทำบุญหน้าวันปลงศพ อย่างหนึ่ง ทำบุญอัฐิหรือทำบุญปรารภการตาย ของบรรพบุรุษ หรือผู้ใดผู้หนึ่ง ในวันคล้ายกับวันตายของท่านผู้ล่วงลับไปแล้วอย่างหนึ่ง ทั้งสองอย่างนี้ มีระเบียบ ที่จะพึงปฏิบัติ ดังนี้
       ก. งานทำบุญหน้าศพ
     พิธีฝ่ายเจ้าภาพ ในงานทำบุญหน้าศพ มีกิจกรรมที่ควรตระเตียมไว้เป็น เบื้องต้น ส่วนใหญ่คล้ายกับงานทำบุญมงคล แต่มีข้อแตกต่างอยู่บางประการ คือ
     ๑. อาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ มีจำนวนนิยม ๘ รูป หรือ ๑๐ หรือกว่า นั้นขึ้นไป แล้วแต่กรณี ในเรื่องอาราธนาพระสงฆ์สำหรับทำบุญงานอวมงคล ไม่ใช้คำอาราธนาว่า ่”ขออาราธนาเจริญพระพุทธมนต์” เหมือนอย่างทำบุญงานมงคล แต่ใช้คำอราธนาว่า “ขออราธนา สวดพระพุทธมนต์”
     ๒. ไม่ตั้งน้ำวงด้าย หมายความว่า ไม่ต้องตั้งภาชนะน้ำสำหรับทำน้ำมนต์ และไม่มี การวงด้ายสายสิญจน์
     ๓. เตียมสายโยงหรือภูษาโยงต่อจากศพไว้ เพื่อใช้บังสุกุลสายโยงนั้น ก็ใช้สายสิญจน์ นั่นเอง แต่ไม่เรียกว่าสายสิญจน์เหมือนงานมงคล เรียกว่า สายโยง ถ้าไม่ใช้สายสิญจน์โยง มีหลักที่ต้องระวังอย่างหนึ่ง คือ จะโยงในที่สูงกว่าพระพุทธรูป ที่ตั้งในพิธีไม่ได้ และจะปล่อย ให้ลาดมากับพื้นที่เดินหรือนั่งก็ไม่เหมาะเพราะสายโยงนี้ เป็นสาย ที่ล่ามโยงออกมาจากกระหม่อม ของศพ เป็นสิ่งเนื่องด้วยศพ จึงต้องล่ามหรือโยงให้สมควร
     ส่วนการปฏิบัติกรณียกิจ ในเมื่อพระสงฆ์มาถึงตามกำหนดแล้วก็คล้ายกับงานมงคล
     สำหรับข้อปฏิบัติในวันเลี้ยงพระ ก็เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในงานมงคล มีแต่เพียงว่า ในงานมงคล หลังจากพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว นิยมให้มีบังสุกุล แล้วจึงถวายไทยธรรม เมื่อพระสงฆ์ อนุโมทนาพึงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลต่อไป
     พิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์ ต้องใช้พัดที่เกี่ยวกับงานศพเป็นเหมาะสม เพราะงานอวมงคล เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตายทั้งสิ้น ถ้าไม่มี จะใช้พัดงานอื่นก็ได้ เช่น พัดงานฉลองต่าง ๆ การสวดมนต์ ในงานอวมงคลนี้ (สวดมนต์เย็นและฉันวันรุ่งขึ้น) มีระเบียบนิยมเหมือนกัน ในตอนต้นและตอนท้าย ทุกงาน ต่างกันแต่ตอนกลาง ซึ่งมีนิยมเฉพาะงาน ๆ ดังนี้
     ๑. ทำบุญศพ ๗ วัน สวดอนัตตลักขณสูตร
     ๒. ทำบุญศพ ๕๐ วัน สวดอาทิตตปริยายสูตร
     ๓. ทำบุญศพ ๑๐๐ วัน หรือทำบุญหน้าวันปลงศพสวดธรรมนิยามสูตร
     ๔. ทำบุญศพในวาระอื่นจากที่กล่าวนี้จะสวดสูตรอื่นใดนอกจากที่กล่าวนี้ก็ได้ แล้วแต่ เจ้าภาพประสงค์หรือหัวหน้านำสวด แต่มีธรรมเนียมอยู่ว่า ไม่สวดเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ธรรมจักร มหาสมัย
     ในการสวดนี้ มีระเบียบปฏิบัติ คือ เมื่อพระหัวหน้าให้ศีลและเจ้าภาพอาราธนา สวดพระปริตรจบแล้ว ไม่ต้องขัด สคฺเค พระทุกรูปประนมมือพร้อมกันแล้ว หัวหน้านำสวด
       ก. นมการปาฐะ (นโม......)
       ข. สรณคมนปาฐะ (พุทฺธํ สรณํ.....)
       ค. ปัพพโตปมคาถาและอริยธนคาถา (ยถาปิ เสลา....)
     พอจบตอนนี้ ทั้งหมดลดมือลง แล้วรูปที่นั่งอันดับ ๓ ตั้งพัดขัดบทขัดของสูตร ที่กำหนด สวดตามงานสูตรใดสูตรหนึ่ง เมื่อขัดจบวางพัด ทุกรูปประนมมือพร้อมกันอีก หัวหน้านำสวดสูตร ที่ขัดนำนั้น จบสูตรแล้ว นำสวดบทท้ายสวดมนต์ของงานอวมงคลต่อ คือ
       ก. ปฏิจจปมุปบาท (อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา....)
       ข. พุทธอุทานคาถา (ยทา หเว....)
       ค. พุทเทกรัตตคาถา (อตีตํ นานฺวาคเมยฺย....)
       ฆ. ภวตุ สพฺพมงฺคลํ....
     ถ้าสวดธรรมนิยามสูตร ใช้สวดติลักขณาทิคาถา (สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ฯเปฯ เต โลเก ปรินิพฺพุตาติ) ก่อนสวดปฏิจจสมุปบาท
     เมื่อพระสวดมนต์จบแล้ว ถ้ามีการชักผ้าบังสุกุลต่อท้าย เจ้าจะลากสายโยงหรือภูษาโยง แล้วทอดผ้า พอทอดถึงรูปสุดท้าย พระสงฆ์ก็ตั้งพัดพร้อมกัน (อย่าข้าสายโยง หรือภูษาโยง เพราะ จะถือว่าเป็นการข้ามศพ) การตั้งพัดในพิธีชักบังสุกุลของพระให้ใช้มือซ้ายจับพัดแล้วใช้มือ ขวาจับผ้าบังสุกุล
     ในกรณีที่เจ้าภาพบำเพ็ญกุศลเพียงสดมนต์ ไม่มีการเลี้ยงพระ ไม่ต้องสวดบทถวาย พรพระ เมื่อพระสงฆ์รับไทยธรรมแล้ว หากไม่มีการรีบด่วน ในการอนุโมทนาด้วยบทวิเสส อนุโมทนา พึงใช้บท “อทาสิ เม” เพราะศพยังปรากฏอยู่
       ข. งานทำบุญอัฐิ
     พิธีฝ่ายเจ้าภาพ พึงจัดตระเตียมทำนองเดียวกับงานทำบุญหน้าศพที่กล่าวแล้ว ทุกประการ ต่างแต่เพียงงานนี้เป็นงานทำบุญหน้าอัฐิหรือรูปที่ระลึกของผู้ที่ล่วงลับ เป็นต้น เจ้าภาพต้องเตรีมที่ตั้งอัฐิหรือที่ตั้งรูประลึกนั้น ๆ ต่างหากจากโต๊ะบูชา จะใช้โต๊ะหมู่หรือโต๊ะอื่นใด ที่สมควรก็ได้ ให้มีออกไม้ตั้งหรือประดับพองามตามแต่จะพึงจัดได้ และตั้งกระถางธูปกับเชิงเทียน ๑ คู่ ที่หน้าโต๊ะอัฐิหรือรูปนั้นด้วยเพื่อบูชา จะใช้พานหรือกระบะเครื่องห้าสำหรับบูชาแทนก็ได้ ข้อสำคัญให้ดูงามเด่นพอควร เป็นใช้ได้
     พิธีฝ่ายภิกษุสงฆ์ ส่วนใหญ่ก็พึงปฏิบัติเช่นเดียวกับงานทำบุญหน้าศพ ต่างแต่ การสวดมนต์ นิยมใช้สูตรอื่นนอกจากอนัตตลักขณสูตร อาทิตตปริยายสูตร และธรรมนิยามสูตร ที่ใช้สำหรับงานทำบุญศพ ๗ วัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน หรือหน้าวันปลงศพดังกล่าวแล้ว (ในปัจจุบัน สวดธรรมนิยามสูตรก็มี) ทั้งนี้แล้วแต่หัวหน้าสงฆ์ จะกะนัดหมาย หรือเจ้าภาพจำนง หมาย เช่น สติปัฏฐานปาฐะ เป็นต้น
ทำบุญครบรอบ
 การทำบุญ 7 วัน 50 วัน และ 100 วัน
   วิธีนับวันตายเพื่อทำบุญครบ ๗ วัน ๕๐ วัน หรือ ๑๐๐ วันนั้น ให้นับวันตายเป็นวันที่ ๑ เช่น ถ้าตายวันจันทร์ ก็นับวันจันทร์เป็นวันที่ ๑ วันอังคารเป็นวันที่ ๒ วันพุธเป็นวันที่ ๓ วันพฤหัสบดีเป็นวันที่ ๔ วันศุกร์เป็นวันที่ ๕ วันเสาร์เป็นวันที่ ๖ และวันอาทิตย์เป็นวันที่ ๗ การทำบุญครบ ๗ วัน จึงกำหนดทำในวันอาทิตย์ที่ ๗ (แต่ก็มีผู้รู้บางท่านให้ความเห็นว่าการทำบุญครบ ๗ วันนิยมให้ล่วงไปแล้ว ๗ วันก่อน ฉะนั้น จึงถือเอาวันที่ ๘ (วันจันทร์) เป็นวันทำบุญครบ ๗ วัน อย่างนี้ก็มี) อย่างไรก็ตาม พิธีทำบุญครบ ๗ วัน ๕๐ หรือ ๑๐๐ วันนี้ ในทางปฏิบัติก็นิยมทำกันอยู่ ๒ ลักษณะ คือ ทำวันเดียว กับทำสองวัน
กรณีทำวันเดียว เจ้าภาพก็นิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูป หรือ ๗ รูป หรือ ๙ รูป (ส่วนใหญ่นิยม ๗ รูป) มาสวดพระพุทธมนต์ และเลี้ยงพระให้เสร็จสิ้นในวันเดียวคือวันที่ ๗ (หรือจะทำในวันที่ ๘ ตามความเห็นของผู้รู้บางท่านก็ได้) โดยมีทั้งการสวดพระพุทธมนต์ และเลี้ยงพระในวันเดียวกัน อาจจะทำตอนเช้าหรือตอนเพลก็ได้
กรณีทำสองวัน เจ้าภาพก็นิมนต์พระสงฆ์ ๕ รูป หรือ ๗ รูป หรือ ๙ รูป (ส่วนใหญ่นิยม ๗ รูป) มาสวดพระพุทธมนต์เย็นในวันที่ ๗ ส่วนวันที่ ๘ ก็เลี้ยงพระเช้า หรือเพล โดยจะจัดให้มีการแสดงพระธรรมเทศนาด้วยก็ได้
 วิธีนับวันตายเพื่อทำบุญครบ ๕๐ วัน หรือ ๑๐๐ วัน ก็ใช้วิธีนับแบบเดียวกับทำบุญครบ ๗ วัน และมีรูปแบบการทำบุญเหมือนกัน คือ จะทำ ๑ วัน หรือ ๒ วันก็ได้  สำหรับการเลื่อนวันทำบุญนั้น ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถเลื่อนได้ โดยทั่วไปก็นิยมเลื่อนเข้ามามากกว่าจะเลื่อนออกไป เช่นในกรณีที่ตายวันจันทร์ที่ ๑ ถ้าไม่สะดวกที่จะทำบุญครบ ๗ วันในวันอาทิตย์ที่ ๗ ก็เลื่อนเข้ามาทำบุญในวันเสาร์ที่ ๖ แทน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เจ้าภาพไม่ควรกังวลใจจนเกินไป เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องวันเท่าใดนัก จะเลื่อนเข้าหรือเลื่อนออกอย่างไร ก็ขอให้ยึดถือความพร้อมของเจ้าภาพและพระสงฆ์เป็นเกณฑ์ไว้ การประกอบพิธีจึงจะเป็นไปด้วยความราบรื่น


ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น